เลขาธิการคปภ. คาด โอมิครอนไม่กระทบอุตสาหกรรมประภันภัย ยอมรับบทเรียนจากประกันโควิด แบบเจอจ่ายจบ ทำให้ธุรกิจระมัดระวังในการออกผลิตภัณฑ์มากขึ้น แนะเร่งกู้ภาพลักษณ์และฟื้นธุรกิจกลับมา

ปัญหาการจ่ายเคลมประกันโควิด-19 จากสายพันธุ์เดลตา ยังไม่จบ ไทยก็ต้องมาเจอกับการระบาดซ้ำของของสายพันธุ์ โอมิครอน หลังพบเจอผู้ติดเชื้อรายแรกในประเทศ แม้จะยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่า สถานการณ์จะรุนแรงเพียงใด แต่ก็ยังวางใจไม่ได้โดยเฉพาะธุรกิจประกันภัยที่กรมธรรม์ประกันภัย ประเภท เจอจ่ายจบ ยังมีความคุ้มครองไปจนถึงกลางปีหน้า

ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.)เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า คปภ.ยังต้องดูว่า เชื้อตัวนี้จะทำให้มีการระบาดรุนแรงมากขึ้นหรือไม่ ถ้าการระบาดไม่รุนแรงและสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ รวมทั้งวัคซีนที่เร่งดำเนินการฉีดอยู่ในขณะนี้สามารถควบคุมการระบาดของเชื้อโอไมครอนได้ ก็คาดว่าจะไม่กระทบต่ออุตสาหกรรมประกันภัยของไทยอย่างมีนัยสำคัญ แต่ก็เป็นเรื่องที่ประมาทไม่ได้

ทั้งนี้คปภ.จะติดตามและเฝ้าระวังเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด แม้การทดสอบ stress test ยังไม่ได้ออกมาอย่างเป็นทางการ แต่ตามที่ได้รับรายงานเบื้องต้น ผลการทดสอบยังไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม บริษัทที่ได้รับผลกระทบยังเป็นบริษัทในกลุ่มเดิมที่เคยมีการทดสอบครั้งที่แล้ว ซึ่งหมายความว่า ณ ขณะนี้ยังไม่เกิดความเสี่ยงในเชิงระบบ แต่เพื่อความไม่ประมาทจะจัดให้มีการทดสอบเป็นระยะๆ กรณีมีปัจจัยเสี่ยงที่เปลี่ยนแปลง

คปภ. งัด ESG กำกับธุรกิจซื้อหวยออนไลน์ถูกกฎหมายมั่นใจได้ประกันให้ยั่งยืน

อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากประกันโควิด แบบเจอจ่ายจบ จะทำให้บริษัทประกันวินาศภัยมีความระมัดระวังมากขึ้นในการออกผลิตภัณฑ์ รวมถึงการ underwrite แผนการบริหารความเสี่ยงและต้องมีความเข้าใจเกี่ยวกับโรคระบาดต่างๆ ขณะที่คปภ.เองจะปรับปรุงเกณฑ์ต่างๆ โดยยกระดับเงื่อนไขที่ต้องปฏิบัติและความรับผิดชอบของ product committee และ risk committee ของบริษัท และจะต้องปรับปรุงประกาศในเรื่องการบริหารความเสี่ยงให้ครอบคลุมการให้อำนาจของนายทะเบียนที่จะสั่งให้มีการหยุดขายผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่มีความเสี่ยงได้

“การแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นบทเรียนที่สำคัญที่ธุรกิจประกันภัยจะต้องเร่งกอบกู้ภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นกลับคืนมา โดยคปภ.จะเร่งบูรณาการ เพื่อหามาตรการเยียวยาผลกระทบจากโควิด-19 ขณะเดียวกันภาคธุรกิจประกันภัยก็ต้องเร่งปรับตัวให้ความสำคัญต่อการนำเทคโนโลยีมาใช้อย่างจริงจัง”ดร.สุทธิพลกล่าว

 

คปภ.จะเร่งปรับกระบวนการกำกับดูแลแบบ Proactive action และส่งเสริมการพัฒนาธุรกิจประกันภัยอย่างยั่งยืน Environmental (E) social (S) and Governance (G) หรือ ESG ให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่องในระยะยาว ในฐานะที่คปภ.เป็นหน่วยงานหลักในการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัย มีความตั้งใจและเห็นความสำคัญของการสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนในอุตสาหกรรม

 

แม้เรื่อง Sustainability จะเป็นเรื่องใหม่สำหรับอุตสาหกรรมประกันภัยทั่วโลก แต่คปภ.ได้ตระหนักถึงความสำคัญจึงได้บรรจุประเด็น ESG รวมถึง sustainability ลงไปในแผนพัฒนาการประกันภัยด้วย รวมถึงที่ผ่านมาได้สนับสนุนแนวความคิด ESG และ Sustainability ทั้งทางตรงและทางอ้อมใน 4 ด้านหลักๆ คือ

บรรจุแนวคิด sustainability ลงในแผนยุทธศาสตร์ของคปภ.รวมถึงออกมาตรการกำกับดูแลบริษัทประกันภัยในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน
การพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่ส่งเสริมความยั่งยืน โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่ช่วยในเรื่องการบริหารความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ ผลผลิตทางการเกษตร ความเท่าเทียมในภาคสังคมในการเข้าถึงการบริหารจัดการความเสี่ยงของชีวิตและทรัพย์สิน
กำกับดูแลการลงทุนของบริษัทประกันภัย โดยบริษัทประกันภัยสามารถลงทุนในผลิตภัณฑ์ทางการเงินสีเขียว เช่น Green bonds ที่อยู่ในระดับที่สามารถลงทุนได้ (investment grade) หรือ หุ้นยั่งยืนที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงกองทุนรวมที่ลงทุนในผลิตภัณฑ์สีเขียวต่างๆ
การส่งเสริมความรู้และความเข้าใจของบุคลากร ให้เกิดการตระหนักรู้ถึงความสำคัญของประเด็นเรื่อง Sustainability และ insurance literacy โดยยกเป็นหนึ่งในประเด็นหลักของการพัฒนาภาคประกันภัย ตั้งแต่แผนพัฒนาการประกันภัยฉบับที่ 3

“นโยบายการผลักดันเรื่อง ESG จะช่วยกอบกู้ภาพลักษณ์และเรียกความเชื่อมั่นที่ประชาชนมีต่อธุรกิจประกันภัยกลับคืนมา แต่จะต้องใช้ระยะเวลาและต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจของทุกฝ่ายอย่างจริงจังและจริงใจ” ดร.สุทธิพลกล่าวทิ้งท้าย

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,738 วันที่ 9 – 11 ธันวาคม พ.ศ. 2564

อ้างอิง
https://www.thansettakij.com/category/money_market