TGH ชงผู้ถือหุ้น ไฟเขียว งดจ่ายปันผล-จัดสรรหุ้นเพิ่มทุน 4,512 ล้านบาท เติมสภาพคล่อง พร้อมเปลี่ยนชื่อบริษัทใหม่เป็น “ไทยกรุ๊ปโฮลดิ้งส์”

วันที่ 5 มีนาคม 2565 นายโชติพัฒน์ พีชานนท์ รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เครือไทยโฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TGH รายงานตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า ด้วยมติที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ เมื่อวันจันทร์ที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565 ได้มีมติเรื่องสำคัญดังนี้

1.ให้นำเสนอที่ประชุมผู้ถือหุ้นในวันพฤหัสบดีที่ 28 เมษายน 2565 เวลา 10.00 น. ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์(E-AGM) เพื่อพิจารณาอนุมัติการเปลี่ยนแปลงชื่อบริษัทเป็น บริษัท ไทยกรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน)

2.งดจ่ายเงินปันผล เนื่องจากบริษัทมีผลขาดทุนสุทธิ

3.ให้นำเสนอที่ประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อพิจารณาอนุมัติการเพิ่มทุนจดทะเบียนของบริษัทแบบมอบอำนาจทั่วไป (General Mandate) จำนวน 4,512 ล้านบาท จากทุนจดทะเบียนเดิมจำนวน 7,520 ล้านบาท เป็นทุนจดทะเบียนใหม่จำนวน 12,033 ล้านบาท โดยการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวน 451.25 ล้านหุ้น ซึ่งมีมูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 10 บาท

วิธีที่ 1 คือจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 225.62 ล้าน หุ้น คิดเป็น 30% ของทุนชำระแล้วเพื่อเสนอขายแก่ผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วนการถือหุ้น

วิธีที่ 2 คือจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 150.41 ล้านหุ้น คิดเป็น 20% ของทุนชำระแล้วเพื่อเสนอขายให้แก่ประชาชนทั่วไป

วิธีที่ 3 คือจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 75.20 ล้านหุ้น คิดเป็น 10% ของทุนชำระแล้วเพื่อเสนอขายให้แก่บุคคลในวงจำกัด

โดยพิจารณาเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนในคราวเดียวหรือหลายคราวก็ได้ อย่างไรก็ตาม การจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนตาม วิธีที่ 1 วิธีที่ 2 และวิธีที่ 3 ข้างต้น โดยวิธีใดวิธีหนึ่งหรือหลายวิธี ทุนชำระส่วนที่เพิ่มจะไม่เกิน 30% ของทุนชำระแล้ว หรือ 225.62 ล้านหุ้น ณ วันที่คณะกรรมการบริษัทมีมติให้เพิ่มทุน แต่หากจัดสรรตามวิธีที่ 2 และวิธีที่ 3 ทุนชำระแล้ว ส่วนที่เพิ่มจะไม่เกิน 20% ของทุนชำระแล้ว หรือ 150.41 ล้านหุ้น ณ วันที่คณะกรรมการบริษัทมีมติให้เพิ่มทุน

กำหนดวัตถุประสงค์ จำนวน วัน และเวลาที่เสนอขาย ราคาเสนอขาย รวมถึงรายละเอียดและเงื่อนไขต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุน โดยการจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนตามวิธีที่ 2 และวิธีที่ 3 ดังกล่าว จะต้องไม่เป็นการจัดสรรให้แก่บุคคลที่เกี่ยวโยงกัน และในการกำหนดราคาเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ให้แก่บุคคลในวงจำกัด จะต้องเป็นไปเพื่อรักษาประโยชน์ที่ดีที่สุดของบริษัทและผู้ถือหุ้นโดยรวม และต้องไม่ต่ำกว่าราคาใดราคาหนึ่งดังต่อไปนี้

1.ราคาถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักของหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ ย้อนหลังไม่น้อยกว่า 7 วันทำ การติดต่อกันแต่ไม่เกิน 15 วันทำการติดต่อกันก่อนวันกำหนดราคาเสนอขายหุ้น และอาจกำหนดส่วนลดได้ไม่เกิน 10% ของราคาดังกล่าว หรือ

2.ราคาที่กำหนดโดยผ่านกระบวนการที่เปิดให้นักลงทุนแสดงความประสงค์ที่จะซื้อหุ้นที่ออกใหม่ของบริษัท ณ ระดับราคาที่ต้องการ (Book Building) ซึ่งผ่านการสำรวจโดยบริษัทหลักทรัพย์

3.เจรจา ตกลง ลงนามในเอกสารและสัญญาต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และดำเนินการอื่นใดที่จำเป็นและสมควรอันเกี่ยวเนื่องกับการออกและเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนดังกล่าว

ทั้งนี้ การจัดสรรหุ้นเพิ่มทุนดังกล่าวจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่บริษัทจัดให้มีการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปีของบริษัทในครั้งถัดไป หรือภายในวันที่กฎหมายกำหนดให้ต้องจัดให้มีการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปีในครั้งถัดไป แล้วแต่วันใดจะถึงก่อน

โดยวัตถุประสงค์ของการเพิ่มทุน เพื่อสนับสนุนการดำเนินธุรกิจของบริษัทย่อย และบริษัทในเครือ ที่มีความจำเป็นต้องใช้เงินทุนเพิ่มเติมในการขยายธุรกิจในอนาคตให้เป็นไปตามแผนงานและเป้าหมายของบริษัท โดยจะกำหนดรายละเอียดการเพิ่มทุนที่ชัดเจน เมื่อคณะกรรมการบริษัทมีมติจัดสรร

โดยบริษัทสามารถระดมทุนได้ภายในระยะเวลาอันสั้น ซึ่งจะเพิ่มสภาพคล่องและสร้างความแข็งแกร่งทางโครงสร้างเงินทุนของบริษัท สร้างความมั่นคงด้านสถานะทางการเงินและผลการดำเนินงานของบริษัท และจะช่วยเพิ่มศักยภาพในการดำเนินธุรกิจของบริษัท

นอกจากนี้ประโยชน์ที่ผู้ถือหุ้นจะพึงได้รับคือ บริษัทมีนโยบายจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นในอัตราไม่ต่ำกว่า 50% ของกำไรสุทธิจากงบการเงินเฉพาะกิจการของบริษัทภายหลังกำไรหักภาษีเงินได้นิติบุคคล และการจัดสรรเงินทุนสำรองต่างๆ ทุกประเภทตามที่กำหนดไว้กฎหมายและข้อบังคับของบริษัทในแต่ละปี แต่จะต้องไม่มีขาดทุนสะสมในส่วนของผู้ถือหุ้น

ผู้จองซื้อหุ้นเพิ่มทุนครั้งนี้จะมีสิทธิรับเงินปันผลจากการดำเนินงาน หลังจากมีการเพิ่มทุนแล้ว จากการเพิ่มทุนจะทำให้หุ้นของบริษัทมีสภาพคล่องที่ดีขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้สามารถดึงดูดนักลงทุนโดยทั่วไปให้เข้ามาลงทุนในบริษัทได้เพิ่มมากขึ้น

เงินทุนที่ได้จากการเพิ่มทุนจะนำไปใช้ในการลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนในอนาคตที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้บริษัทมีกำไรจากการลงทุนและมีเงินปันผลจ่ายให้กับผู้ถือหุ้นได้ในอนาคต

อ้างอิง
https://www.prachachat.net/finance